ฮาวาย 1

หากคลี่แผนที่โลกออก แล้วมองไปที่จุดกึ่งกลางในมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปอเมริกา เราจะเห็นหมู่เกาะ ฮาวาย ซึ่งในทางภูมิศาสตร์แล้วคือส่วนหนึ่งของโพลีนีเชีย และมีกำเนิดมาจากภูเขาไฟ ปัจจุบันนี้ฮาวายมีสถานะเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐ

ฮาวาย แต่ปางก่อน

คนที่ทำให้โลกรู้จักหมู่เกาะฮาวายคือกัปตันชื่อดัง “เจมส์ คุก” ซึ่งแม้ว่ายน้ำไม่เป็น แต่กลับล่องเรือมาถึงเกาะโออาฮูในปี พ.ศ. 2321/ค.ศ. 1778 ระหว่างที่ออกสำรวจทางเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก กัปตันคุกตั้งชื่อให้ว่าหมู่เกาะแซนด์วิช เพื่อเป็นเกียรติแก่เอิร์ลแห่งแซนด์วิช ในระยะแรกชาวฮาวาย [2] หลงเข้าใจว่ากัปตันคุกเป็นพระเจ้า แต่ในที่สุดพระเจ้าอุปโลกน์องค์นี้ก็ถูกชาวฮาวายสังหาร แม้รายละเอียดในบันทึกยังคงสับสน แต่ข้อมูลกระแสหนึ่งกล่าวว่ากัปตันคุกถูกฟาดที่ศีรษะด้วยกระบอง ตามด้วยการกระหน่ำแทงจนเสียชีวิตด้วยกริชที่ชาวฮาวายได้รับมาจากการแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวอังกฤษนั่นเอง

ในอดีต ฮาวายมีการปกครองที่คล้ายคลึงกับระบบศักดินาของยุโรป และแบ่งคนออกเป็น 3 ชนชั้น (หรือวรรณะ) คือ ชนชั้นปกครอง พระ (อาจรวมถึงบรรดาผู้รู้และผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการนำทาง) และสามัญชน สังคมของชาวฮาวายมีศาสนา ภาษาพูด และวัฒนธรรมของตัวเอง โดยมีจารีตประเพณีเป็นเครื่องมือในการปกครอง และไม่มีการบัญญัติกฎหมาย จารีตบางอย่างอาจฟังดูไม่น่าเชื่อว่าใช้บังคับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้แนวคิดสมัยใหม่เป็นเกณฑ์ เช่น ห้ามผู้ชายและผู้หญิงรับประทานอาหารร่วมกัน ชาวบ้านจะเดินให้เงาของตัวเองพาดขวางทางเดินของชนชั้นปกครองไม่ได้ เป็นต้น ศาสนาของชาวฮาวาย

ยังครอบคลุมถึงการบูชาเทพเจ้าต่างๆ ตั้งแต่เทพเจ้าสำหรับไฟ ไปจนถึงเทพเจ้าสำหรับฉลาม

สภาพภูมิอากาศที่เกือบสมบูรณ์แบบตลอดปี ผืนดินและแผ่นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ชาวฮาวายมีการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ต้องดิ้นรนกับการหาเลี้ยงชีพ แต่รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด ยามนั้น ชาวต่างชาติที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนฮาวายต่างรู้สึกว่า ชาวฮาวายไม่มีความทะเยอทะยาน ขาดความเป็นปัจเจกบุคคล ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ และขาดแนวคิดเกี่ยวกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์

ส่วนตัว ลักษณะเหล่านี้เป็นที่ขัดตาขัดใจของชาวตะวันตกอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นความไม่ศิวิไลซ์ ดังจะเห็นได้จากบันทึกที่ชาวต่างชาติคนหนึ่งเขียนไว้ว่า

“การที่ชาวฮาวายสามารถทำมาหากินบนผืนแผ่นดินของตนได้อย่างง่ายดาย เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและอุตสาหกรรมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะทำให้ชาวฮาวายไม่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน และทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคนต่างถิ่นได้

ข้อเท็จจริงที่ว่าธรรมชาติหยิบยื่นอาหารให้อยู่แล้ว ทำให้ชาวฮาวายขาดความต้องการที่จะแสวงหาที่ดินเพิ่มเติม อาหารมีพอให้เก็บเกี่ยว ทั้งในวันนี้และวันหน้า แต่แทนที่ชาวฮาวายจะฉกฉวยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ กลับแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน และมั่นใจว่าเพื่อนบ้านจะแบ่งปันให้ตนเป็นการตอบแทน”

เชื่อกันว่าก่อนหน้าที่กัปตันคุกย่างเท้าลงบนเกาะสวรรค์แห่งนี้ ชาวฮาวายอาจมีจำนวนถึงล้านคน (ข้อมูลบางกระแสบอกว่ามีประมาณ 3 แสนคน ในปี ค.ศ. 1778/พ.ศ. 2321) แต่เมื่อกัปตันคุกเดินทางไปถึง ชาวฮาวายหลายพันคนต้องเสียชีวิตลง เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคใหม่ๆ ที่ชาวตะวันตกนำติดตัวมาฝากโดยไม่เจตนา ตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่ ไอกรน ฝีดาษ ไปจนถึงโรคหนองใน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นความสัมพันธ์แบบผิวเผินหรือลึกซึ้ง

เกือบจะพูดได้ว่า จากนั้นเป็นต้นมา ประชากรชาวฮาวายก็มีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเกือบสูญพันธุ์เลยทีเดียว บันทึกระบุว่าในปี ค.ศ. 1853/พ.ศ. 2396 ชาวฮาวายมีจำนวน 70,000 คน (70% ของประชากรทั้งหมด) ต่อมาเหลือเพียง 50% ในปี ค.ศ. 1884/พ.ศ. 2427 และอีก 6 ปีต่อมา เหลืออยู่ 38% เท่านั้น

กำเนิดราชอาณาจักร ฮาวาย

เดิมนั้น เกาะแต่ละแห่งของฮาวายมีผู้ปกครองเกาะแยกกันต่างหาก พระเจ้าคาเมฮาเมฮา (Kamehameha) ที่ 1 หรือพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช ทรงใช้เวลานานถึง 15 ปี (พ.ศ. 2338/ค.ศ. 1795 ถึง พ.ศ. 2353/ค.ศ. 1810) กว่าจะรวบรวมเกาะทั้งหมดเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสถาปนาราชอาณาจักรฮาวายขึ้นมาได้ พระปรีชาสามารถของพระองค์ทำให้มีผู้ตั้งสมญานามว่า “นโปเลียนแห่งแปซิฟิก” หลังจากที่สถาปนาราชอาณาจักรแล้ว พระองค์ทรงแต่งตั้งบุคคลในชนชั้นปกครองเพื่อดูแลเกาะแต่ละแห่ง การทำเช่นนี้ทำให้ชนชั้นปกครองเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งอำนาจกันอีกต่อไป และนำสันติสุขมาสู่ราชอาณาจักรแห่งนี้

ในรัชสมัยของพระองค์ ฮาวายมีการติดต่อกับชาวตะวันตกค่อนข้างมากและได้รับอิทธิพลจากฝ่ายหลังอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศอังกฤษ ซึ่งทรงมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ธงสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรฮาวายจึงสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างเปิดเผย หลังจากรัชสมัยของพระองค์ อิทธิพลจากชาวต่างชาติยังคงแทรกซึมลึกเข้าไปในสังคมฮาวาย เสมือนโรคร้ายที่กัดกินจากภายใน และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ชาวอังกฤษนี่แหละที่ปลดธงของพระองค์ลงจากยอดเสา

ฮาวาย 2

มิชชันนารีกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ ฮาวาย

แต่เดิมนั้น ศาสนาของชาวฮาวายเป็นความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาฟ้าดินตามแบบชุมชนโบราณ กล่าวคือมีเทพเจ้าที่ปกปักรักษาทุกอย่าง ตั้งแต่น้ำ ฟ้า ป่า เขา ภูเขาไฟ สงคราม และแม้กระทั่งปลาฉลาม ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้นแล้วว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาของฮาวายคือ พระนางคาอาฮูมานู พระองค์ทรงสังเกตเห็นว่าเมื่อชาวต่างชาติหรือพระสวามีของพระองค์ไม่กระทำตามจารีตประเพณีของฮาวาย ก็ไม่เห็นว่าสายฟ้าจะผ่าหรือแผ่นฟ้าจะคำรามแต่อย่างใด

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจากที่พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง 6 เดือน พระนางคาอาฮูมานูทรงร่วมมือกับพระมารดาของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 ในการเกลี้ยกล่อมให้พระองค์เสวยพระกระยาหารร่วมกับสตรีเพศต่อหน้าพสกนิกร อันถือเป็นการฉีกม่านประเพณี ซึ่งห้ามผู้ชายและผู้หญิงรับประทานอาหารร่วมกัน ประเด็นนี้ไม่เพียงแต่จุดชนวนที่ทำให้ศาสนาของฮาวายเสื่อมความขลังลงเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดประเพณีใหม่คือลูเอา ซึ่งนักท่องเที่ยวในปัจจุบันนิยมชมชอบกันนักหนา

เท่านั้นยังไม่พอ พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 มีรับสั่งให้ทำลายวัดและสัญลักษณ์อื่นๆ ทางศาสนาของฮาวาย เช่น เทวรูป จนเป็นเหตุให้ชาวฮาวายรู้สึกสับสนและเคว้งคว้าง แม้จะมีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แต่ในที่สุดศาสนาดั้งเดิมของฮาวายก็สูญสิ้นไปเกือบหมดในปี พ.ศ. 2362/ค.ศ. 1819 นักประวัติศาสตร์บางคนถึงกับกล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่ชนชาติหนึ่งละเลิกศาสนาของตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ ในเวลาอีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อมิชชันนารี [3] ชาวอเมริกันนิกายโปรเตสแตนต์คณะแรกลงเรือเดินทางจากเมืองบอสตันมาเยือนฮาวายเป็นครั้งแรก ชาวฮาวายจึงต้อนรับขับสู้อย่างอบอุ่นตามประสาชาวเกาะที่ยังไร้เดียงสาและขาดที่พึ่งทางใจ ในทางตรงกันข้าม ภาพของชาวฮาวายกลับทำให้มิชชันนารีบางคนถึงกับน้ำตาคลอเบ้าและเบือนหน้าหนี คนที่ฝืนใจมองดู ก็เกือบหลุดปากออกมาว่า “นี่เป็นคนแน่หรือ” ตาสีน้ำข้าวของฝรั่งในยุคนั้นให้ความสำคัญกับผิวสีขาวสีเดียวเท่านั้น ส่วนผิวสีน้ำตาลอย่างชาวฮาวายหรือเชื้อชาติอื่นๆ คือสัญลักษณ์ของความป่าเถื่อนที่ยอมรับไม่ได้ มิชชันนารีคู่หนึ่งที่ย่างเท้าลงฮาวายในครั้งนั้นคือสามีภรรยาเจ้าของนามสกุล “เทอร์สตัน” ขอให้จำนามสกุลนี้ไว้ เพราะหลานชายของคนคู่นี้จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในภายหลัง

เหล่ามิชชันนารีอาศัย “พระเจ้าในกล่องดำ” (คัมภีร์ไบเบิล) เพื่อหว่านล้อมให้พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 ทรงเชื่อว่า หากไม่ปฏิบัติตามคำสอนตามแบบนิกายโปรเตสแตนต์แล้ว พระเจ้าจะลงโทษไปชั่วกัลปาวสาน ด้วยกุศโลบายนี้ มิชชันนารีจึงสามารถแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปแทรกแซงได้ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของฮาวาย

มิชชันนารีที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในฮาวายมีจุดประสงค์เช่นเดียวกันกับกลุ่มที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆ คือต้องการนำวิทยาการความรู้ใหม่ๆ ไปเผยแพร่เป็นสื่อเพื่อแทรกซึมศาสนาคริสต์เข้าไปในจิตใจของชาวพื้นเมือง มิชชันนารีเหล่านี้ช่วยพัฒนาภาษาท้องถิ่นของฮาวายให้อยู่ในรูปภาษาเขียน ภายในเวลาไม่ถึง 20 ปี ก็สามารถก่อตั้งระบบโรงเรียนตามแบบฉบับชาวตะวันตกได้ รวมทั้งสอนให้ชาวฮาวายไหวตัวทันกลโกงของชาวตะวันตกที่เอาเปรียบในการแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ห้ามมิให้ชาวฮาวายประกอบพิธีกรรมดั้งเดิม เพราะคำสอนของศาสนาคริสต์ในเวลานั้นระบุว่าลัทธิความเชื่ออื่นๆ ทั้งหมดมีความชั่วร้ายแอบแฝงอยู่ ใครที่ถูกจับได้ว่าพูดภาษาฮาวายหรือแอบไปเต้นระบำส่ายสะโพกเป็นต้องถูกจับมาลงโทษ

เรื่องการล้มเลิกศาสนาของชาวฮาวายทำให้อดซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้ เพราะทุกพระองค์ทรงตระหนักถึงหลักสัจธรรมของพุทธศาสนา และมีสายพระเนตรกว้างไกล ศาสนาพุทธจึงยังคงดำรงอยู่ในประเทศไทยสืบมาจนบัดนี้

กลับไปยังเรื่องฮาวายอีกที ใช่ว่ามิชชันนารีเหล่านั้นสามารถดำเนินการเผยแผ่ศาสนาในฮาวายได้โดยปราศจากอุปสรรคใดๆ เลยก็หาไม่ มีอยู่ช่วงหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 พระองค์ทรงรู้สึกอึดอัดกับศาสนาใหม่นี้จนถึงกับออกมาประกาศสงครามกับศีลธรรมตามแบบฉบับชาวคริสต์ เริ่มตั้งแต่ทรงดื่มสุราประชด จำนวน 32 บาร์เรล ใน 1 สัปดาห์ จากนั้นก็นำตัวคริสต์ศาสนิกชนมาบังคับให้ดื่มเหล้ายิน พร้อมส่งเสริมให้พระสหายละทิ้งข้อห้ามต่างๆ แล้วกลับไปรื่นรมย์กับระบำส่ายสะโพกกระดานโต้คลื่น และการพนัน อันเป็นวิถีทางชีวิตดั้งเดิมของชาวฮาวาย ที่หนักไปกว่านั้นคือทรงส่งคนไปประกาศตามถนนว่า ทางการยกเลิกบทลงโทษว่าด้วยการประพฤติผิดทางประเวณีและอาชญากรรมต่างๆ ยกเว้นฆาตกรรมและโจรกรรม ปรากฏว่าได้ผล เพราะชาวฮาวายละทิ้งโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์และโบสถ์จนเกลี้ยง

สิทธิการถือครองที่ดิน

ในอดีต ชาวฮาวายไม่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นการส่วนตัว แต่มีชนชั้นปกครองทำหน้าที่แบ่งส่วนที่ดิน ตั้งแต่ยอดเขาถึงฝั่งทะเล และอนุญาตให้สามัญชนใช้ที่ดินทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ที่ดินแต่ละแปลงมีขนาดแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการเมืองในทำเลที่ตั้งแต่ละแห่ง ชนชั้นปกครองจะแต่งตั้งผู้ดูแลเพื่อให้ความช่วยเหลือในการควบคุมดูแลการใช้ที่ดินในแต่ละวัน ผู้ดูแลต้องเป็นคนที่รอบรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและมีทักษะในการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ชาวบ้านร่วมมือกันใช้ทรัพยากร โดยรักษาสมดุลระหว่างการยังชีพและปริมาณผลผลิต ผู้ดูแลจะออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ไว้บังคับใช้ เช่น การอนุญาตให้จับปลาบางชนิดเฉพาะในบางฤดู การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน ทุกคนที่อาศัยอยู่ในที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิใช้ทรัพยากรและรับส่วนแบ่งที่เก็บเกี่ยวจากแผ่นดินและท้องทะเล โดยเสียภาษีในรูปผลผลิต ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามความเหมาะสมกับธรรมชาติทำให้ชาวฮาวายมีเวลาพักผ่อนและสร้างสรรค์งานศิลปะแบบชาวเกาะ รวมทั้งศิลปะการต่อสู้ กีฬา และนาฏศิลป์

หลังจากที่มิชชันนารีได้เข้ามาลงหลักปักฐานแล้ว ก็แน่นอนอยู่เองที่ย่อมมีชาวตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะชาวอเมริกัน ในช่วงแรกนั้น ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นคนระดับแรงงาน จึงไม่ค่อยมีปากเสียงอะไรมากนัก แต่ต่อมา บรรดาพ่อค้า ช่างฝีมือ บุคคลอาชีพต่างๆ ก็หลั่งไหลเข้ามากันมากขึ้น ขณะเดียวกันลูกหลานของมิชชันนารีก็เติบโตขึ้น และประกอบอาชีพต่างๆ กัน ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ บุคคลดังกล่าวย่อมต้องเรียกร้องเพื่อให้มีสิทธิเช่นเดียวกับที่เคยมีมาก่อนเมื่ออยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง รวมทั้งสิทธิการถือครองที่ดินด้วย ชาวต่างชาติ มิชชันนารีและลูกหลานจึงร่วมกันสร้างแรงกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อตน

ในที่สุดกลุ่มชาวต่างชาติก็ประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมให้พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน โดยจัดตั้งระบบจัดสรรที่ดินและสิทธิ์ในการถือครอง พร้อมทั้งออกพระราชบัญญัติที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติมีสิทธิซื้อที่ดินได้ ประเด็นนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจคนในราชอาณาจักรไทยได้ว่า ถ้าชาวต่างชาติมีสิทธิซื้อที่ดินของชาวนาไทยได้แล้ว (ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม) สักวันหนึ่งอาจจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษหลังจากนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวนมากก็ตกไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติ แม้กระทั่งที่ดินส่วนพระองค์ก็ถูกขายหรือให้ชาวต่างชาติเช่า เพื่อชำระหนี้สินหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างชาติ กล่าวได้ว่า พื้นที่ทำไร่เกือบทั้งหมดอยู่ในกำมือของชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของมิชชันนารีกลุ่มแรก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การปฏิรูปที่ดินครั้งนี้เปิดโอกาสให้ระบอบคณาธิปไตยเบ่งบาน เพราะชนส่วนน้อยของประเทศสามารถแผ่อิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่ออำนวยประโยชน์ให้ตัวเองได้อย่างเต็มที่

หลายคนคงพอตั้งข้อสังเกตได้ว่า ในกรณีของราชอาณาจักรฮาวาย ชาวตะวันตกใช้ศาสนาของตนเพื่อเปิดประตูนำชาวฮาวายเข้าสู่ระบบการศึกษาแบบตะวันตก ซึ่งจะเปิดประตูบานถัดไปให้สถาบันการปกครองแบบตะวันตกเข้ามามีบทบาท อันนำมาซึ่งการล้มล้างระบบจัดการที่ดินแบบดั้งเดิม และในที่สุดก็นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับการทำไร่อ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล

ระบอบการปกครองที่เปลี่ยนแปลง

ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2382/ค.ศ. 1839 อำนาจของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮาวายแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ 1. กษัตริย์ 2. คูฮีนา นูอี และ 3. สภาสูง ระบอบการปกครองแบบนี้ทำให้ชาวตะวันตกที่เข้ามาพำนักอาศัยในฮาวายทำอะไรมากไม่ได้ จึงพยายามกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น รัฐบาลของฮาวายพยายามเอาใจชาวตะวันตกพอสมควร แต่ก็ดูเหมือนหากเอาใจอังกฤษ ฝรั่งอีก 2 ชาติ คือ อเมริกาและฝรั่งเศสก็ไม่พอใจ นานวันเข้า พอรัฐบาลฮาวายขยับตัวจะทำอะไรขึ้นมา ก็ปรากฏว่ามีเรือรบต่างชาติเข้ามาจอดค้ำคอรออยู่หน้าอ่าวเสียแล้ว ชาวฮาวายผู้มีการศึกษาคนหนึ่งเคยทำนายอนาคตของฮาวายไว้ว่า “เรือของชาวผิวขาวได้มาถึงแล้ว คนฉลาดได้เดินทางมาจากประเทศอันยิ่งใหญ่ ซึ่งท่านไม่เคยพบเห็นมาก่อน พวกเขารู้ว่าเรามีคนน้อยกว่า และอยู่ในประเทศเล็กๆ พวกเขาจะกลืนกินเราจนสิ้น”

ในปี พ.ศ. 2383/ค.ศ. 1840 พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก อันเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็น 3 ฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายบริหารที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ในฝ่ายนิติบัญญัตินั้นประกอบด้วยกษัตริย์ สภาสูง [5] และสภาล่าง (สภาผู้แทน) โดยที่แต่ละฝ่ายมีอำนาจทัดทานกันได้ นับว่านี่เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้สามัญชนมีตัวแทนในสภา นักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่า การก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยครั้งนั้นเป็นการย่างก้าวก่อนเวลาอันสมควร เพราะชาวฮาวายยังไม่มี

ความพร้อมที่จะใช้ระบอบนี้ จึงต้องอาศัยที่ปรึกษาชาวต่างชาติ อันเป็นการเปิดทางให้ชาวต่างชาติเหล่านั้นเข้าไปมีอำนาจในการปกครองประเทศ และนำมาซึ่งผลเสียต่อราชอาณาจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พระองค์ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งในปี ค.ศ. 1852 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าฮาวายมีการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และให้สิทธิสามัญชนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พร้อมทั้งมีการแบ่งอำนาจปกครองเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญของสหรัฐเป็นต้นแบบ ซึ่งหมายความว่ากษัตริย์มีพระราชอำนาจน้อยลง


ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
iPhone/iPad วิธีค้นหาว่า เป็นของใหม่หรือของเก่า
การฟื้นตัวของเทนนิสจีนยังคงดำเนินต่อไปในเวทีระดับโลก
สถานะของสสารวิทยาศาสตร์ ของแข็ง ของเหลว แก๊ส
โชนซีย์ บิลลัปส์ ไม่เคยมีความสุขเลยตั้งแต่เริ่มเกม
ติดตามข่าวอื่นๆได้ที่ https://restaurant-lemandalay.com/
สนับสนุนโดย  ufabet369
ที่มา www.silpa-mag.com